ชวนรู้จักโรค “ฮีทสโตรก” โรคร้ายในหน้าร้อน
เข้าสู่ช่วงเดือนเมษายน เหมือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุ และมีอุณหภูมิที่ร้อนสูงขึ้นทุกปี
แดดที่ร้อนจัดแบบนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความร้อนได้ หรือที่เรียกกันว่า “ฮีทสโตรก” ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้กับใครหลายคนที่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้รับลมแดดอยู่บ่อย ๆ ว่าแต่โรคฮีทสโตรกคืออะไร และมีวิธีสังเกตอาการอย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ
ฮีทสโตรกคืออะไร อันตรายแค่ไหน?
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) คือโรคที่มาพร้อมกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นในปัจจุบัน เช่น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเป็นเวลานาน หรือได้รับลมแดดอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิตของเรามาก โรคฮีทสโตรกจะทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายอย่าง ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ หากปล่อยไว้นานโดยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อ สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และไต และหากได้รับการรักษาที่ช้าเกินไปอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลยค่ะ
8 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
1.อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น อุณหภูมิของร่างกายที่ 40 องศา หรือสูงกว่าที่ได้จากเครื่องวัดอุณหภูมิเป็นสัญญาณหลักของโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
2.พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาการสับสน กระสับกระส่าย พูดไม่ชัด หงุดหงิด เพ้อ ชัก และอาจถึงขั้นโคม่า ล้วนเป็นผลมาจากโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
3.การเปลี่ยนแปลงในการขับเหงื่อ ในภาวะฮีทสโตรกที่เกิดจากอากาศร้อน ผิวของคุณจะรู้สึกร้อนและแห้งเมื่อสัมผัส อย่างไรก็ตาม ในภาวะลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก ผิวของคุณอาจรู้สึกแห้งหรือชุ่มชื้นเล็กน้อย
4.คลื่นไส้อาเจียน คุณอาจรู้สึกไม่สบายท้องหรือเกิดอาเจียนได้
5.ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ ผิวของคุณอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่ออุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าปกติ
6.หายใจเร็วกว่าปกติ การหายใจของคุณอาจเร็วกว่าปกติ และอาจทำให้หายใจติดขัดได้
7.อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจรของคุณอาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความเครียดจากความร้อนทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นกว่าปกติ เพื่อช่วยให้ร่างกายเย็นลง นั่นเอง
8.ปวดศีรษะ อาการปวดศรีษะตุบ ๆ อาจจะค่อย ๆ เกิดขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้หมดสติได้
วิธีป้องกันฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรกสามารถป้องกันได้ นี่คือสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากอุณหภูมิที่มีความร้อนสูงขึ้น
1.ให้ความชุ่มชื้นกับร่างกายที่เพียงพอ
การให้ความชุ่มชื้นกับร่างกายไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย หรือภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเกิดโรค ฮีทสโตรก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6 แก้วต่อวันขึ้นไป และเมื่อไหร่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายจะต้องการน้ำมากขึ้น แนะนำให้จิบน้ำบ่อย ๆ และนำน้ำติดตัวไปด้วยในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะออกนอกบ้าน หรือที่ทำงาน แนะนำให้เป็นน้ำเปล่า อย่าใช้น้ำโซดา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
2.อย่าออกกำลังกายกลางแจ้ง
แน่นอนว่าการออกกำลังมักจะส่งเสริมให้สุขภาพดี แต่ในช่วงฤดูร้อนแบบนี้มักจะส่งผลเสียมากกว่า ไม่ว่าจะออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว การเดินป่าหรือปั่นจักรยาน กิจกรรมกลางแจ้งเหล่านี้ จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น บวกกับอุณหภูมิจากแสงแดด จะนำไปสู่การเป็นโรคฮิทสโตรกได้ นอกจากนี้ การออกแรงมากเกินไป เช่น การทำสวน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการอ่อนเพลียจากความร้อน และฮีทสโตรกได้
3.กินผลไม้ที่ช่วยคลายความร้อนได้
เมื่อพูดถึงผลไม้คลายร้อนและช่วยให้อุณหภูมิเย็นลง คงต้องยกให้เป็นแตงโมค่ะ แตงโมหวาน ๆ เย็น ๆ เช่นน้ำแตงโมปั่นกับใบมิ้น ก็ช่วยให้เพิ่มความชุ่มชื้นและคืนสมดุลให้กับร่างกายได้ดี เมนทอลจากใบมิ้นยังช่วยกระตุ้นให้ระบบการทำงานของสมองเย็นลงด้วย
นอกจากนี้ผลไม้อื่น ๆ เช่น กล้วย สตรอว์เบอร์รี มะม่วง และส้ม จะช่วยเพิ่มเสริมแร่ธาตุโพแทสเซียมให้กับร่างกาย เพราะเมื่อเราเหงื่อออก เราจะสูญเสียโพแทสเซียมไปด้วย วิธีเพิ่มความอร่อยคือ นำผลไม้เหล่านี้ไปแช่เย็นจะทำให้กินได้อร่อยมากขึ้นค่ะ
4.สวมเสื้อผ้าที่โปร่ง โล่งใส่สบาย
เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หลีกเลี่ยงผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ที่ระบายอากาศได้น้อย และเสื้อผ้าสีเข้ม จะกักเก็บความร้อนได้ดี ทำให้ระบายความร้อนได้ยาก แนะนำให้เป็นเสื้อผ้าสีสดใส หรือสีอ่อนจะดีกว่านะคะ นอกจากนี้ลองเลือกเสื้อผ้าที่โปร่ง โล่ง ใส่สบาย สามารถกระจายความร้อนได้ดี และมีน้ำหนักเบา เพราะในวันที่มีอากาศร้อนจัดจะใส่เสื้อผ้าที่หนาอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเท่าที่ควร
5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดโดยตรง
โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ แนะนำให้ใช้ร่มกันแดด หรือหมวกปีก ในการเดินทาง ไม่ว่าระยะทางจะไกลหรือใกล้แค่ไหน และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้ง หรือบริเวณที่มีแดดจัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก
6.เด็กหรือผู้สูงอายุควรระวังเป็นพิเศษ
ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุแบบนี้ อย่าปล่อยให้คนที่เรารักอยู่ในพื้นที่ที่มีความร้อนสูงนะคะ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ เด็ก หรือสัตว์เลี้ยง เช่น ห้องที่มีอากาศร้อน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือ รถยนต์ เพราะสาเหตุทั่วไปของการเสียชีวิตในรถ มักเกิดจากความร้อน อุณหภูมิในรถเมื่อจอดรถกลางแดด จะเพิ่มขึ้นกว่า 11 องศาเซลเซียส ภายใน 10 นาที แม้ว่าจะรถจอดในร่มก็ตาม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตมาก ๆ ค่ะ เพราะฉะนั้นเมื่อจอดรถแล้ว ให้ล็อกรถไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหรือใครเข้าไปข้างในรถค่ะ
ไม่ว่าใครก็ตามที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคฮิทสโตรกได้ อย่าลืมสังเกตอาการอยู่บ่อย ๆ นะคะ อย่างไรก็ตามการทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เย็นลง ด้วยการดื่มน้ำบ่อย ๆ หรือเติมผลไม้เย็น ๆ ก็ช่วยให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคฮีทสโตรกได้ค่ะ
อ้างอิง
-
“8 Signs You Could Have Heat Stroke” (www.eatthis.com)
-
“Heat Stroke” (www.cdc.gov)
-
“Heat Stroke” (www.mayoclinic.org)