?>
แชร์บทความนี้

สุขภาพดีด้วยวิธีลด หวาน มัน เค็ม

รู้หรือไม่คะ? อาหารที่เรากินนอกบ้านทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารตามสั่ง ข้าวแกง ขนม หรือเครื่องดื่ม อาหารเหล่านี้จะทำให้ร่างกายได้รับ แป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส ในปริมาณมากกว่าที่ร่างกายต้องการ อีกทั้งอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีมีรส หวาน มัน เค็ม ที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง

เพียงแค่เราเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่ตั้งแต่วันนี้ เราก็จะสามารถห่างไกลจากโรคเหล่านี้ได้ค่ะ นอกจากนี้ รสหวาน มัน เค็ม ยังมีภัยอะไรที่ซ่อนอยู่อีกนั้น เราไปดูกันเลยค่ะ

หวาน มัน เค็ม ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ปัจจุบันภาพถ่ายอาหาร เพียงแค่เห็นในรูปก็ชวนให้อยากกินไปเสียหมด แต่อาหารเหล่านั้นอาจทำให้หลาย ๆ คนตามใจปากไม่ตามใจสุขภาพ จนทำให้เราเคยชินกับอาหารรสจัด เช่น รสหวาน มัน เค็ม ซึ่งเรากินเข้าไปทุกวัน โดยไม่รู้ว่ารสชาติเหล่านั้น เป็นตัวก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ บางคนทำงานไม่มีเวลาทำอาหารเองทำให้ต้องซื้ออาหารจานเดียวจากป้าหน้าปากซอย อาหารสำเร็จรูปที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ ส้มตำรสแซ่บที่ต้องใส่ผงชูรสเยอะ ๆ ก๋วยเตี๋ยวที่ชอบปรุงเพิ่ม ที่หลายคนชอบคิดว่านิด ๆ หน่อย ๆ คงไม่เป็นอะไร แต่เมื่อนานเข้าก็ทำจนเกิดความเคยชิน โดยไม่ได้คำนึงถึงโรคร้ายต่าง ๆ ที่ตามมาทีหลัง

อาหารต่าง ๆ เรากินได้และมีประโยชน์ หากเราเปลี่ยนวิธีกินเสียใหม่ เพราะในอาหารมีความเสี่ยงอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอกที่มีโซเดียมมากเกินไป เนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง ข้าวผัดที่มีน้ำมันเยอะเกินไป และก๋วยเตี๋ยวที่มีรสเค็มจากน้ำซุปอยู่แล้ว บางคนปรุงเพิ่มโดยการใส่ น้ำปลา น้ำตาล หรือ น้ำส้มสายชู สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้ว ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานหนักทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ถั่วลิสง หรือพริกป่น อาจมีเชื้อรา เพราะไม่ได้ทำสดใหม่ทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง พฤติกรรมการกินเหล่านี้ หากกินบ่อย อาจจะเกิดการสะสมในร่างกายอย่างช้า ๆ จนทำให้เกิดกลุ่มโรคที่ชื่อว่า “NCDs” ได้ค่ะ

กลุ่มโรค NCDs คืออะไร

โรค NCDs หรือที่เรียกว่า Non-Communicable Diseases เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือแบคทีเรียในอากาศ ไม่สามารถติดต่อหรือแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน การดำเนินชีวิต และไม่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพเท่าที่ควร จนทำให้เกิดโรค NCDs แบบไม่รู้ตัวนั่นเองค่ะ และถ้าหากไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของเราได้ค่ะ
กลุ่มของโรค NCDs ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราได้แก่
 
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคไขมันในเลือดสูง 
  • โรคตับแข็ง
  • โรคอ้วน ลงพุง 
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคถุงลมโป่งพอง 
  • โรคมะเร็ง

ซึ่งโรค NCDs พบได้มากในคนไทยส่วนใหญ่ โรคต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต อาจจะทำให้เราต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ และถ้าหากอายุมากขึ้นแล้ว จะยิ่งทำให้รักษาได้ยากมากขึ้นไปอีกค่ะเพราะ กว่าที่เราจะรู้ตัว ก็พบว่า โรคเหล่านี้สะสมมาเป็นเวลานานแล้ว จนแสดงอาการให้เห็นเมื่อเราป่วย ดังนั้นหากเราเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเสียใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ เราก็สามารถห่างไกลจากโรค NCDs เหล่านี้ได้ค่ะ เช่นเราสามารถเปลี่ยนวิธีการกินของเราได้ เช่น ไม่กินเค็มจนเกินไป ลดอาหารที่มีรสหวานจัด หรือไม่กินเผ็ดจนเกินไป เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหันมาดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดี และอายุที่ยืนยาวนะคะ

อาหารและเครื่องดื่มอะไรบ้าง? ที่เสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ

ด้วยสไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ชอบกินอาหารรสจัดไม่ว่าจะเป็นรสหวาน มัน เค็ม ซึ่งกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว แต่การดูแลสุขภาพ อาจจะเริ่มต้นด้วยการลด อาหารรสจัดลงบ้าง เพราะการกินอาหารรสจัดบ่อย ๆ อาจจะทำให้เกิดการสะสมของโรค NCDs ซึ่งจะไม่เห็นผลกระทบมากนัก หรือไม่แสดงอาการ เนื่องจากอาการยังไม่รุนแรง อาจจะมีเพียงน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือรูปร่างที่อ้วนขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่มีการสะสมของโรคเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ อาจจะไม่ใช่แค่อ้วนก็ได้นะคะ เราลองมาดูกันว่า เมนูอาหารสุดโปรดใกล้ตัวเมนูไหนบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs จะได้หลีกเลี่ยงและเลือกทานกันได้อย่างไม่กังวลค่ะ

1.อาหารตามสั่ง ในอาหารตามสั่งนั้นเราจะแน่ใจได้อย่างไรคะ ว่าในอาหารจะสะอาดถูกหลักอนามัย หากเรากินอาหารนอกบ้านทุกวัน อาจจะได้รับสารพิษจาก ผักที่ไม่สะอาด น้ำมันเก่า ผงชูรส หรือสารกันบูดมากแค่ไหน อาหารตามสั่งส่วนใหญ่มักจะใส่น้ำมันเยอะ เพื่อที่อาหารจะได้หอม อร่อย แต่ถ้าหากเรากินเข้าไปทุกวันแล้วละก็ อาจจะทำให้เกิดการสะสมของโรค จนทำให้เป็นโรคในกลุ่ม NCDs แบบไม่รู้ตัวก็ได้ค่ะ

2.ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง อาหารประเภทน้ำ ไม่ควรซดน้ำจนหมด เพราะมีโซเดียมสูงจากเครื่องปรุงต่าง ๆ ถึงแม้บางทีรสชาติจะไม่เค็มมากเพราะถูกน้ำเจือจางลงไปบ้างแล้ว ก็อาจจะไม่ช่วยอะไรมากมายเพราะเราเคยชินกับรสชาติแบบนี้ไปแล้ว และถ้าเป็นแกงกะทิต่าง ๆ ก็จะมีไขมันเพิ่มมาด้วย แต่ไม่ใช่ว่าจะกินไม่ได้เลยนะคะ นาน ๆ ครั้งก็ไม่เป็นไรค่ะ
 

3.สุกี้ อาหารสุดเฮลตี้ที่หลาย ๆ คน คิดว่ากินแล้วคงไม่อ้วนแน่นอนใช่ไหมคะ เพราะในสุกี้ที่เราเห็นก็มีแต่ผัก วุ้นเส้น เนื้อสัตว์ ซึ่งไม่มีพิษภัยกับร่างกายแน่นอน แต่สิ่งที่ทำร้ายร่างกายเรานั้นก็คือน้ำจิ้มสุกี้ ยิ่งใครใส่เยอะ ๆ รสชาติ หวาน มัน เค็ม เปรี้ยว ก็อาจจะทำให้เกิดการสะสมของโรค NCDs ได้ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดัน และในสุกี้แห้งส่วนใหญ่จะใส่น้ำมันมากเกินไป และใส่ซอสสุกี้มาให้แล้ว ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่ตั้งใจได้นะคะ

4.ผลไม้รถเข็น เราจะแน่ใจได้อย่างไรคะ ว่าผลไม้ที่ร้านใช้ล้างสะอาดหรือไม่ แถมเวลาปลอกเปลือกผลไม้ บางร้านก็มักจะไม่ได้ล้างมือก่อน รับเงินมาทั้งวัน แล้วไปปลอกผลไม้ต่อ ซึ่งอาจจะทำให้ผลไม้ปนเปื้อนได้ และบางร้านอาจจะชุบสีให้สดใหม่ แช่ขัณฑสกร (ขัน-ทด-สะ-กอน) ให้หวานฉ่ำ กินคู่กับพริกเกลือ น้ำตาล และผงชูรสเป็นของแถมให้เกิดโรคอ้วนหรือโรคไตตามมาได้ค่ะ

5.นมวัว ควรระวังเรื่องคอเลสเตอรอลสูงโดยไม่รู้ตัวจากการดื่มนม เพราะในนมสด 1 แก้ว ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่ มีไขมัน 3.25% ไขมันมากถึง 8 กรัม และ ไขมันอิ่มตัว 5 กรัม ซึ่งไขมันที่ได้จากนมเป็นไขมันจากสัตว์ อุดมไปด้วย คอเลสเตอรอลเป็นไขมันอิ่มตัว หากดื่มมากทุกวัน เช้า – เย็น ก็จะส่งผลไม่ดีซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วนได้ค่ะ ลองมองหานมจากพืช ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพนะคะ

6. น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มยอดฮิตในหมู่คนทำงาน โดยเฉพาะ ชาเย็น กาแฟเย็น น้ำอัดลม ที่มีส่วนผสมหลักคือน้ำตาล น้ำเชื่อม นมข้น ที่ดื่มแล้วชื่นใจ ฮีลใจสุด ๆ แต่เมื่อไหร่ที่เราดื่มทุกวัน ร่างกายจะเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นไขมันไปสะสมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะไขมันที่พุง ซึ่งนำไปสู่โอกาสการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ได้นะคะ

เทคนิคลด หวาน มัน เค็ม

ลดหวาน
ร่างกายคนเราไม่ควรได้รับน้ำตาลเกินวันละ 4-6 ช้อนชา หรือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะกินข้าวต่อวัน งดเติมน้ำตาลลงไปในอาหารไม่ว่าจะเป็นการปรุงเพิ่มหรือทำอาหารเองที่บ้าน หากใครเป็นคนติดรสหวานยังต้องการเติมน้ำตาล แนะนำให้ค่อย ๆ ลดปริมาณน้ำตาลลงเรื่อย ๆ ค่ะ หากใครที่ชอบกินขนมหลังจากมื้อกินข้าวไม่ว่าจะเป็น การดื่มน้ำหวาน ขนมหวาน หรือโดนัด ลองเปลี่ยนมาเติมความหวานจากผลไม้แทนดีกว่าค่ะ เพราะในผลไม้อุดมไปด้วย วิตามิน แร่ธาตุและไฟเบอร์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เลือกผลไม้หวานน้อย เช่น กล้วย แอปเปิล ส้ม เชอร์รี่ สาลี่ แตงโม สตรอว์เบอร์รี และหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานมากเพราะในผลไม้ก็มีน้ำตาลจากธรรมชาติ ทำให้อ้วนได้เช่นกันค่ะ เช่น ทุเรียน ขนุน มะม่วงสุก ลำไย และองุ่น การลดอาหารที่มีรสหวานอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เชื่อว่าทุกคนก็สามารถทำได้แน่นอนค่ะ

ลดมัน
ไม่ว่าจะผอมหรืออ้วน ทุกคนก็มีความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูงได้ ศัตรูตัวร้ายที่เรียกว่าไขมัน ส่วนใหญ่มักมาจากปริมาณน้ำมันในการประกอบอาหาร อย่างของผัด ของทอด ขนมแสนอร่อยทั้งหลาย ซึ่งหากเราได้รับปริมาณไขมันที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดเสี่ยงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงได้ ควรใช้น้ำมันประกอบอาหารไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรืออาจจะใช้เป็นขวดสเปรย์ฉีดน้ำมันลงไปในกระทะเพื่อไม่ให้อาหารไหม้เร็วแทนการเทน้ำมันลงไปโดยตรง และควรเลือกใช้ที่ดีต่อสุขภาพเช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน ในการประกอบอาหาร เลือกทานเนื้อสัตว์ที่ไม่มีมันและหนัง เช่น อกไก่ ปลา สันในหมู เป็นต้น หลีกเลี่ยงของทอดต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันใช้ซ้ำ และควรหมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อย่างน้อย 30 นาที เพื่อสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากโรค NCDs นะคะ
 

ลดเค็ม
โดยปกติคนราต้องการโซเดียมไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม หรือ 1.5 กรัมต่อวัน แต่ในชีวิตประจำวันเราอาจกินโซเดียมมากกว่านั้นโดยไม่รู้ตัว หากเป็นเกลือไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา น้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชา วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคโซเดียมในแต่ละวันนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารทำสดแทนอาหารแปรรูป หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหมัก ดอง เช่น แหนม ปลาส้ม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง เป็นต้น ปรุงรสด้วยสมุนไพรเครื่องเทศแทนการใช้เกลือ น้ำปลา หรือเลือกใช้ เกลือหิมาลายัน น้ำปลาไม่มีโซเดียม และหลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรสด้วยนะคะ

อาหารที่ปรุงน้อย หรือไม่ปรุงเลย ย่อมดีต่อสุขภาพและห่างไกลจากโรคร้าย เมื่อเราปรับอาหารให้มีรสอ่อนลงเรื่อย ๆ ลิ้นของเราก็จะชิน ทำให้เราอร่อยกับรสชาติอาหารได้ในที่สุด หันมาดูแลตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวกันนะคะ “เพราะสุขภาพที่ดี เริ่มจากก้าวเล็ก ๆ เสมอ”

อ้างอิง


แชร์บทความนี้